โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้

โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่เป็นๆ หายๆ พบบ่อยในเด็ก ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีแนวโน้มทางพันธุกรรมอยู่เป็นพื้นฐาน ผู้ป่วยมักมีประวัติเยื่อบุตาอักเสบ แพ้อากาศ ไอ จามบ่อยๆ หรือหอบหืด โดยเฉพาะเวลาที่อากาศรอบตัวเปลี่ยนแปลง เช่น ตอนเช้ามืดคนในครอบครัวผู้ป่วยมักมีประวัติโรคภูมิแพ้ของเยื่อบุต่างๆ เช่น เยื่อบุตาอักเสบภูมิแพ้ แพ้อากาศ ไอจามบ่อยๆ หอบหืด หรือผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ไม่ได้เกิดจากการแพ้อาหาร หรือสารเคมีอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เกิดจากผิวหนังของผู้ป่วยไวต่อสภาพแวดล้อมรอบตัว ทั้งสภาพร้อน เย็น แห้ง ชื้น เชื้อโรค และสารเคมีที่ระคายผิวหนัง อย่างไรก็ตามผู้ที่ไม่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวเลยก็เป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะความผิดปกติซ่อนเร้นอยู่ในยีนของครอบครัวผู้ป่วยโดยไม่เกิดอาการก็ได้

โรคนี้แบ่งลักษณะตามช่วงอายุได้เป็น 3 ช่วง
1.ช่วงวัยทารก เริ่มมีอาการคัน และผื่นขึ้นตั้งแต่อายุประมาณ 6-8 สัปดาห์ อาการคันอาจเป็นมากจนเด็กอายุถึง 2 ขวบ พบเป็นผื่นที่แก้มทั้ง 2 ข้าง หรือตามด้านนอกของแขน ขา ลำตัว ผื่นคันอาจเห่อขึ้นเมื่อเด็กฉีดวัคซีน เมื่อเด็กมีอาการผื่นคันอยู่แล้วจึงต้องระมัดระวังในการฉีดวัคซีน หรือควรปรึกษาแพทย์เสียก่อน
2.ช่วงวัยเด็ก ผื่นผิวหนังในช่วงวัยเด็กมักเป็นตามข้อแขนข้อพับ และขา ผื่นจะแดง คลำดูได้หนากว่าปกติ อาการคันอาจเป็นรุนแรงมาก จึงทำให้เด็กหงุดหงิดรำคาญ
3.ช่วงวัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ พบว่าโรคผิวหนังภูมิแพ้ในวัยทารก และวัยเด็กอาจหายไปเองใน 2-3 ปี แต่กลับมากำเริบอีกครั้งในวัยรุ่น อาจมีอาการคันอย่างมาก อาการคันมักกำเริบตอนกลางคืน ผื่นคันมักเป็นตามข้อพับ แขน ขา ใบหน้า หัวไหล่ และด้านบน

อาการและลักษณะของผื่นแพ้
1.ผื่นผิวหนังอักเสบในโรคนี้อาการคันมาก ลักษณะเป็นผื่นแดง หรือมีตุ่มแดงนูน ตุ่มน้ำใส ซึ่งเมื่อแตกออกเป็นน้ำเหลืองไหลเยิ้มแล้วกลายเป็นสะเก็ดแข็ง ถ้าผื่นนี้เป็นมานานเข้าสู่ระยะเรื้อรัง จะพบเป็นแผ่นหนาแข็ง มีขุย ตำแหน่งที่พบผื่นแตกต่างกันได้ตามวัยของผู้ป่วยในเด็กเล็ก ช่วงขวบปีแรก ผื่นผิวหนังอักเสบจะพบมากบริเวณใบหน้า ศีรษะ เด็กมักจะเอาแก้ม หรือศีรษะถูกไถกับหมอน ผ้า ที่นอน เพราะผื่นคันมาก
2.ในเด็กวัยเรียน และผู้ใหญ่ ผื่นผิวหนังอักเสบพบมากในบริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา คอ ใบหน้า และผิวหนังตำแหน่งที่มีการเสียดสีแต่ในรายที่เป็นมากๆ ผื่นเกิดทั่วร่างกายได้
3.โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง เป็นโรคที่มีผิวหนังอักเสบเรื้อรังเป็นๆ หายๆ ในเด็กทารกมักเป็นผื่นคันที่แก้ม รอบปาก หนังศีรษะ ซอกคอ เด็กที่โตขึ้นจะมีผื่นตามข้อพับ แขนขา หรือบริเวณที่มีการเสียดสีบ่อยๆ เช่น ข้อศอก เข่า อาการที่สำคัญคือ “คันมาก” ผื่นจะกำเริบมากขึ้นเมื่อผิวแห้ง หรือมีเหงื่อออกมาก ยุงกัด อาการคันทำให้ผู้ป่วยเกา ส่งเสริมให้ผื่นลามกว้างขึ้น และอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนด้วย

ปัจจัยที่ทำให้ผื่นกำเริบมากขึ้น
1.สภาวะแวดล้อม เช่น สภาวะที่มีละอองเกสร ขนสัตว์ ไรฝุ่น สิ่งเหล่านี้ทำให้ผื่นมีอาการคันมากขึ้น
2.เชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา อาจแทรกซ้อนทำให้เกิดการติดเชื้อบนผิวหนังของผู้ป่วย ผิวหนังที่อักเสบอยู่เดิมจะกำเริบมากขึ้น กรณีที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย
3.ฤดูกาล ผื่นผิวหนังอักเสบมักมีอาการมากขึ้น ในช่วงฤดูหนาว เพราะความชื้นในอากาศต่ำ อากาศแห้ง เย็น ทำให้ผิวหนังผู้ป่วยคันและเป็นผื่น ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการมากขึ้นในช่วงฤดูร้อน เพราะอากาศที่ร้อนทำให้เหงื่อออกมาก เกิดอาการคัน และเกิดผื่นเช่นเดียวกับในฤดูหนาว
4.เสื้อผ้า เครื่องนุ่มห่ม และเครื่องประดับที่มีขน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสื้อผ้าที่ทำจากขนสัตว์ จะทำให้เกิดการคันเพิ่มเติม
5.สบู่ ครีม โลชั่น และผงซักฟอกที่ใช้เป็นประจำ สารเคมีเหล่านี้มีฤทธิ์ละลายไขมัน หรือ/และอาจมีส่วนประกอบที่ก่ออาการระคายเคืองแก่ผิวหนังทำให้เกิดอาการคันและเป็นผื่นผิวหนังอักเสบได้ง่าย
6.อาหาร ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ประมาณร้อยละ 10 พบว่าอาหารบางชนิดเป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นแย่ลง มักพบในผู้ป่วยเด็ก เช่น นม ไข่ ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์บางประเภท
7.จิตใจที่วิตกกังวลความเครียดก็สามารถทำให้โรคกำเริบได้

การรักษา

1.หลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆ ที่ทำให้โรคกำเริบมากขึ้น เช่นไม่อยู่ในห้องปรับอากาศที่เย็นจัด ไม่อาบน้ำที่มีอุณหภูมิเย็น หรือร้อนจัด และควรหลีกเลี่ยงภาวะที่ทำให้เหงื่อออกมาก
2.รับประทานยาต้านฮิสตามีน ลดอาการคัด เมื่อมีอาการคันควรรับประทานยาต้านฮิสตามีน วันละ 2-3 ครั้งติดต่อ เว้น 5-7 วัน เพื่อลดอาการคัน เพราะอาการคัดทำให้ผู้ป่วยต้องแกะเกาผิวหนัง ผื่นผิวหนังที่อักเสบจะกำเริบขึ้นได้ ยากลุ่มนี้ได้แก่คลอเฟนนิลามีน สามารถซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ข้อที่ควรระวังคือ ยานี้มีผลข้างเคียงคือ อาการง่วงนอน
3.ยาทากลุ่มสเตรียรอยด์ มีฤทธิ์ลดการอักเสบของผื่นผิวหนัง ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะโรคกลุ่มนี้ต้องใช้ยานาน อาจมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นได้ ถ้าใช้ยาไม่ถูกต้อง
4.กรณีที่มีตุ่มหนองเกิดแทรกซ้อนบนตุ่มหรือผื่นแดง แสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์เพราะผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

วิธีทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น

1.ไม่ควรอาบน้ำอุ่นจัด หรืออาบน้ำบ่อยเกินไป
2.ไม่ควรฟอกสบู่บ่อยๆ โดยเข้าใจผิดคิดว่าอาการคัน เกิดจากความสกปรกของผิวหนัง การถูสบู่มากๆ ทำให้ผิวระคาย และแห้ง กลับทำให้เป็นผื่นมากขึ้นอีก สบู่ที่เลือกใช้ไม่ควรเป็นกรดหรือด่างจนเกินไป ไม่มีสี หรือน้ำหอมเจือปน
3.ใช้สารเคลือบผิว (Emollients) ผสมน้ำแช่อาบ หรือ ทาผิวหนังทันทีหลังอาบน้ำ และใช้ครีม Moisturizer หรือ โลชั่นทาเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวหนังบ่อยๆ

วิธีลดอาการคัน

1.การลดอาการคัน เพื่อลดการเกาซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีผื่นลุกลามขึ้น
2.อย่าใช้เสื้อผ้าที่ระคายง่าย อับร้อน ควรใส่เสื้อผ้าหลวมๆ และควรซักล้างผงซักฟอก และน้ำยาปรับผ้านุ่มออกให้หมด
3.ควรอยู่ในสภาพแวดล้อมอากาศที่สบาย ไม่ร้อน หรือหนาวจนเกินไป
4.ไม่ควรใช้น้ำหอม สเปรย์ และหลีกเลี่ยงขนสัตว์ ฝุ่น ควันบุหรี่
5.อย่าออกกำลังกายมากขณะที่มีผื่นกำเริบ เพราะจะทำให้เหงื่อออกมาก และคัน
6.ลดการเกา โดยตัดเล็บให้สั้น ตะไบเล็บอย่าให้คม ในเด็กเล็ก อาจสวมถุงมือให้เวลานอน เพื่อไม่ให้เกาเวลาหลับ

ข่าวสารแนะนำ
...
การปวดท้องประจำเดือนของผู้หญิง

การปวดท้องประจำเดือนของผู้หญิง อาการปวดท้องประจำเดือนมักจะเกิดกับผู้หญิง มีอาการก่อนประจำเดือนมา1-2 วัน หรือปวดวันที่ประจำเดือนมาวันแรก และระหว่างมีประจำเดือนในช่วงวันแรกๆ อาการปวดประจำเดือนมีตั้งแต่อาการปวดหน่วงหรือปวดเกร็งเล็กน้อย ไปจนถึงอาการปวดขั้นรุนแรงบริเวณท้องน้อย และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดหลังด้านล่าง คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก ท้องเสียหรือท้องผูก ท้องอืด เวียนศีรษะและปวดศีรษะ เป็นต้น อาการปวดประจำเดือนแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน ปวดประจำเดือนประเภทปฐมภูมิ (Primary Dysmenorrhea) เป็นอาการปวดประจำเดือนที่พบบ่อยที่สุด สาเหตุมักเกิดจากการที่เยื่อบุโพรงมดลูกผลิตสารโพรสตาแกลนดินมากเกินไป ปวดประจำเดือนประเภททุติยภูมิ (Secondary Dysmenorrhea) เกิดจากภาวะผิดปกติของมดลูกหรืออวัยวะสืบพันธุ์อื่นๆ  หากมีอาการปวดประจำเดือน ผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาตัวเองได้โดย ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบท้องน้อยและหลัง อาบน้ำอุ่น ใช้เทคนิคการผ่อนคลาย เช่น โยคะหรือนั่งสมาธิ รับประทานยาต้านการอักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs) ควรรับประทานเมื่อเริ่มมีอาการปวดหรือก่อนมีอาการปวด การรับประทานยาแก้ปวดอาจมีผลข้างเคียง ดังนั้นควรใช้เมื่อมีอาการปวดอย่างรุนแรงเท่านั้น พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานผักและผลไม้ จากการศึกษาพบว่าทานอาหารที่มี Vitamin E, Omega-3 Fatty Acids, Vitamin B1, Vitamin B6 และ Magnesium ช่วยลดการปวดประจำเดือนได้

2022-03-24 11:18:05

...
อาการ CULTURE SHOCK

อาการ CULTURE SHOCK เป็นอาการที่เกิดจาก การที่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศหรือต่างถิ่นจึงมีอาการculture shock ความอึดอับกับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมนั้นเรียกว่าอาการ  Culture Shock ซึ่งอาจส่งผลโดยตรงต่อสภาพจิตใจของนักเรียน วันนี้เราจะมาแนะนำถึงอาการ Culture Shock กันค่ะ Culture Shock นั้นเป็นเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกับทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว ยิ่งเมื่อเริ่มการใช้ชีวิตในต่างประเทศแล้ว ทั้งวัฒนธรรม สิ่งที่เราเคยทำเป็นประจำในทุกๆวัน ทัศนคติของคนรอบๆตัว ต่างก็กลายเป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคยไปเสียดื้อๆ และในระหว่างที่นักเรียนกำลังอยู่ในขั้นตอนของการรับรู้ความเปลี่ยนแปลงและจัดการทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนั้นคืออาการ Culture Shock นั่นเองค่ะ  Culture Shock มีลำดับขั้นตอนดังนี้ The Honeymoon Stage ทันทีที่มาถึงสถานที่ใหม่ๆ เป็นเรื่องปกติที่เราจะรู้สึกตื่นเต้นและเริ่มที่จะซึมซับแต่สิ่งที่ดีและสวยงามของประเทศนั้นๆ ในช่วงนี้เราจะเห็นทุกอย่างเป็นสิ่งดีไปเสียหมดและระดับการเปิดรับวัฒนธรรมใหม่นั้นสูงมาก The Negotiation Stage เมื่อถึงเวลาการมองโลกแบบขั้นที่หนึ่งนั้นจะหายไปเองเมื่อเราเริ่มมองโลกตามความเป็นจริงมากขึ้น นักเรียนอาจเริ่มรู้สึกเคว้นคว้าง หรือรู้สึกหงุดหงิดกับวัฒนธรรมที่แตกต่างและรู้สึกว่าชีวิตตัวเองไม่มีระเบียบมากนักภายใต้สังคมใหม่  The Adjustment Stage เป็นช่วงที่เราเริ่มรู้สึกผ่อนคลายลงจากการปรับตัว ความรู้สึกแปลกถิ่นเริ่มจางหายไปและสถานที่ใหม่เริ่มกลายเป็นบ้านมากขึ้น นักเรียนจะรู้สึกว่าอารมณ์คงที่มากขึ้น  The Mastery Stage เป็นขั้นสุดท้ายของอาการ Culture Shock ซึ่งคือเมื่อเราสามารถรู้สึกสบายดีได้ในที่สุด ซึ่งเป็นขั้นที่เรารู้สึกว่าทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผล เราสามารถพูดคุยกับคนแปลกหน้าในสังคมใหม่ได้อย่างไม่เคอะเขินหรือกลัว และรู้สึกคุ้นชินกับกิจวัตรประจำวันแบบใหม่ได้ในที่สุด แน่นอนว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่จะคิดถึงเพื่อนๆและครอบครัว แต่ในที่สุดแล้วเพื่อนและกิจกรรมใหม่ๆก็จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเรา อาการ Culture Shock ส่งผลกระทบต่างออกไปในแต่ละคนโดยขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีต บางคนอาจพบว่าอาการนี้ไม่ส่งผลอะไรเลยในขณะที่บางคนอาจพบว่าอาการนี้ยากเกินกว่าจะรับมือได้ อย่างไรก็ตาม Culture Shock เป็นอาการที่รับมือได้ง่าย ดังนั้นผู้ที่สนใจจะไปเรียนต่อต่างประเทศจึงไม่ควรปล่อยให้ความกลัวเป็นตัวขัดขวางโอกาสในการศึกษาต่อในต่างประเทศ

2022-03-18 10:13:55

...
การดื่มชาเขียว ช่วยให้ลดน้ำหนักจริงหรือ?

การดื่มชาเขียว ช่วยให้ลดน้ำหนักจริงหรือ? การดื่มชาเขียวช่วยให้ลดน้ำหนักได้จริงๆเพราะสามารถช่วยกระตุ้นการเผาผลาญไขมันในร่างกาย แต่อย่างไรก็ตามควรควบคุมปริมาณการทานอาหารให้เหมาะสม แต่ควรดื่มให้เหมาะกับปริมาณที่พอดีและควรดื่ม ในเวลาที่ ดื่มชาเขียวระหว่างกินข้าว หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากลดน้ำหนัก การดื่มชาเขียวในระหว่างกินข้าวเป็นไอเดียที่ดีอย่างหนึ่ง หรือการทานชาเขียวหลังกินข้าวก็ให้ผลดีเช่นกัน  ชาเขียวเย็น ในช่วงที่มีอากาศร้อน การจิบชาเขียวเย็น ๆ จะช่วยทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นเยอะ ทำได้โดยการหาชาเขียวแบบซองสำเร็จรูป แล้วชงเก็บใส่ตู้เย็นเอาไว้ แล้วนำออกมาดื่มเวลารู้สึกกระหายน้ำ ที่สำคัญควรงดการเติมน้ำตาลลงไปโดยเด็ดขาดหากไม่อยากอ้วน อย่าดื่มชาเขียวที่วางขายตามร้านสะดวกซื้อ การซื้อชาเขียวตามร้านสะดวกซื้อเพื่อใช้ในการลดน้ำหนักนั้นเป็นวิธีที่ไม่ได้ผล เพราะเต็มไปด้วยน้ำตาลแถมยังมีส่วนผสมของน้ำตาลอยู่ในปริมาณมาก นอกจากจะทำให้ไม่ผอมแล้ว ยังทำให้อ้วนง่ายมากกว่าเดิม ดังนั้นให้ลองหาซื้อชาเขียวซองมาชงดื่มเองจะดีกว่า แต่การดื่มชาเขียวแล้วลดน้ำหนักได้จริงๆคือ ควรเลือกชาเขียวที่ชงจากถุงเท่านั้น อย่าเลือกดื่มชาเขียวใส่ขวดสำเร็จ เนื่องจากมันเต็มไปด้วยน้ำตาล นอกจากจะไม่ทำให้ผอมแล้ว ยังอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย

2022-03-17 11:09:05

...
โรคแพนิค(PANIC DISORDER)

โรคแพนิค PANIC DISORDER โรคแพนิค หรือโรควิตกกังวล มักพบได้มากในยุคสมัยนี้ อย่างที่เราสังเกตได้ โรคตื่นตระหนก ผู้ที่เป็นมักมีความรู้สึกกลัว ตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก แบบไม่คาดคิดมาก่อน และเกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน และมีความกังวลว่าจะเป็นขึ้นมาอีก  โรคแพนิค จะมีอาการดังนี้ ใจสั่น ใจเต้นแรง หรือใจเต้นเร็วมาก  เหงื่อแตก  ตัวสั่น มือเท้าสั่น หายใจไม่อิ่ม หรือ หายใจขัด  รู้สึกอึดอัด หรือแน่นอยู่ข้างใน  เจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก  คลื่นไส้ ท้องไส้ปั่นป่วน  วิงเวียน โคลงเคลง มึนตื้อ หรือเป็นลม  ครั่นเนื้อครั่นตัว หนาวสั่น ร้อนวูบวาบ เหมือนจะเป็นไข้ รู้สึกชา หรือรู้สึกซ่า ๆ (paresthesia) รู้สึกเหมือนสิ่งรอบตัวเปลี่ยนแปลงไป (derealization หรือ depersonalization) กลัวคุมตัวเองไม่ได้ หรือกลัวเป็นบ้า กลัวว่าตนเองกำลังจะตาย หากไม่ได้รับการรักษาหรือบำบัดโรคแพนิค และปล่อยไว้นานๆอาจจะทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ภายหลังได้ และคนรอบข้างต้องทำความเข้าใจและเข้าใจคนที่ป่วยเป็นโรคนี้ด้วย จะเป็นการช่วยให้เขามีอาการที่ดีขึ้นด้วย   ทั้งนี้น้องเมดิคเป็นกำลังใจและอยู่ข้างๆคนที่กำลังป่วยนะครับ :)

2022-03-17 10:43:27