โรคลมบ้าหมู (โรคลมชัก)

โรคลมบ้าหมู (โรคลมชัก)

เกิดจากความผิดปกติของการนำกระแสไฟฟ้าภายในสมอง มักจะเป็นพักๆ (ช่วงเวลาสั้นๆ) และมีโอกาสเป็นซ้ำสูง ยกเว้นภาวะชักต่อเนื่อง (Status epilepticus) แต่เดิมคนไทยเคยเรียกว่า โรคลมบ้าหมู ปัจจุบันใช้คำว่า โรคลมชัก และในอนาคตมีแนวโน้มจะเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า เป็นโรคคลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติแทน (Abnormal brain wave)

ที่เปลี่ยนชื่อเนื่องจากอาการของโรคลมชักไม่จำเป็นต้องมีอาการชักเกร็งหรือ กระตุกของกล้ามเนื้อ แต่อาการผิดปกติที่พบบ่อยสุด คือ อาการเหม่อลอย อาจมีตาค้างหรือ ตาเหลือก และเรียกไม่รู้สึกตัว ดังนั้น การวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชักอาจสร้างความเข้าใจผิด ว่าต้องมีอาการชักเกร็ง กระตุกของร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยในแง่การเข้าสังคม รวมถึงการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพของผู้ป่วย

การวินิจฉัยและการสืบค้นในโรคลมชัก (Diagnosis and investigation)                    

ผู้ป่วยจะต้องมีการชักโดยไม่มีปัจจัยกระตุ้นมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป หรือชักครั้งแรกแต่มีโอกาสที่จะชักซ้ำสูง ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการชักครั้งแรก จำเป็นต้องได้รับการตรวจประเมินว่าจะมีโอกาสขักซ้ำมากเท่าใด รวมทั้งหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการชัก ซึ่งการประเมินดังกล่าว ต้องอาศัยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจเลือด การตรวจวินิจฉัยสมอง (CT or MRI brain) และที่สำคัญที่สุดคือการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ส่วนการตรวจน้ำไขสันหลัง (CSF analysis) จะทำเฉพาะบางกรณี เช่น สงสัยภาวะติดเชื้อในระบบประสาท

การรักษาลมบ้าหมู (โรคลมชัก)

ประกอบด้วย การรับประทานยากันชัก (Anti-epileptic drug) และหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ได้แก่ การอดนอน การออกกำลังกายหักโหม ยาบางชนิด การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด  ภาวะตึงเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งถ้าผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์จะสามารถหายขาดจากโรคลมชักโดยประมาณ 60-70% ส่วนกลุ่มที่เหลืออีก 30% จะเรียกว่าภาวะที่ดื้อต่อยากันชัก ซึ่งปัจจุบันสามารถให้การรักษาด้วยการผ่าตัด อย่างไรก็ตามการผ่าตัดรักษาโรคลมชักยังมีอีกหลายวิธี ซึ่งมีความจำเพาะต่อผู้ป่วยแต่ละรายไป จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลโรคลมชักเป็นหลักจะสามารถแนะนำวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยได้

สาเหตุที่พบได้บ่อย (Common etiology) คือแผลเป็น (gliosis) ที่เกิดขึ้นบนผิวสมอง ซึ่งอาจเกิดจากโรคติดเชื้อภายในสมอง ภายหลังอุบัติเหตุทางสมอง ภายหลังจากเลือดออกในสมอง หรือ หลอดเลือดสมองตีบตัน เนื่องอกภายในสมอง ภาวะชักซ้ำๆ หรือ ภาวะชักต่อเนื่อง สามารถพบในสมองเด็กที่กำลังเจริญเติบโตที่เรียกว่ากลุ่มอาการโรคลมชักในเด็ก (Epilepsy syndrome) หรือแม้กระทั่งสมองของผู้สูงอายุที่มีรอยเหี่ยวย่นผิดปกติ อย่างไรก็ตาม พบว่ามีผู้ป่วยประมาณ 10-20% ที่ไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติใดๆภายในสมอง

 

อ้างอิง :https://www.thonburihospital.com/โรคลมบ้าหมู_.html

ข่าวสารแนะนำ
...
การปวดท้องประจำเดือนของผู้หญิง

การปวดท้องประจำเดือนของผู้หญิง อาการปวดท้องประจำเดือนมักจะเกิดกับผู้หญิง มีอาการก่อนประจำเดือนมา1-2 วัน หรือปวดวันที่ประจำเดือนมาวันแรก และระหว่างมีประจำเดือนในช่วงวันแรกๆ อาการปวดประจำเดือนมีตั้งแต่อาการปวดหน่วงหรือปวดเกร็งเล็กน้อย ไปจนถึงอาการปวดขั้นรุนแรงบริเวณท้องน้อย และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดหลังด้านล่าง คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก ท้องเสียหรือท้องผูก ท้องอืด เวียนศีรษะและปวดศีรษะ เป็นต้น อาการปวดประจำเดือนแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน ปวดประจำเดือนประเภทปฐมภูมิ (Primary Dysmenorrhea) เป็นอาการปวดประจำเดือนที่พบบ่อยที่สุด สาเหตุมักเกิดจากการที่เยื่อบุโพรงมดลูกผลิตสารโพรสตาแกลนดินมากเกินไป ปวดประจำเดือนประเภททุติยภูมิ (Secondary Dysmenorrhea) เกิดจากภาวะผิดปกติของมดลูกหรืออวัยวะสืบพันธุ์อื่นๆ  หากมีอาการปวดประจำเดือน ผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาตัวเองได้โดย ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบท้องน้อยและหลัง อาบน้ำอุ่น ใช้เทคนิคการผ่อนคลาย เช่น โยคะหรือนั่งสมาธิ รับประทานยาต้านการอักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs) ควรรับประทานเมื่อเริ่มมีอาการปวดหรือก่อนมีอาการปวด การรับประทานยาแก้ปวดอาจมีผลข้างเคียง ดังนั้นควรใช้เมื่อมีอาการปวดอย่างรุนแรงเท่านั้น พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานผักและผลไม้ จากการศึกษาพบว่าทานอาหารที่มี Vitamin E, Omega-3 Fatty Acids, Vitamin B1, Vitamin B6 และ Magnesium ช่วยลดการปวดประจำเดือนได้

2022-03-24 11:18:05

...
อาการ CULTURE SHOCK

อาการ CULTURE SHOCK เป็นอาการที่เกิดจาก การที่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศหรือต่างถิ่นจึงมีอาการculture shock ความอึดอับกับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมนั้นเรียกว่าอาการ  Culture Shock ซึ่งอาจส่งผลโดยตรงต่อสภาพจิตใจของนักเรียน วันนี้เราจะมาแนะนำถึงอาการ Culture Shock กันค่ะ Culture Shock นั้นเป็นเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกับทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว ยิ่งเมื่อเริ่มการใช้ชีวิตในต่างประเทศแล้ว ทั้งวัฒนธรรม สิ่งที่เราเคยทำเป็นประจำในทุกๆวัน ทัศนคติของคนรอบๆตัว ต่างก็กลายเป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคยไปเสียดื้อๆ และในระหว่างที่นักเรียนกำลังอยู่ในขั้นตอนของการรับรู้ความเปลี่ยนแปลงและจัดการทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนั้นคืออาการ Culture Shock นั่นเองค่ะ  Culture Shock มีลำดับขั้นตอนดังนี้ The Honeymoon Stage ทันทีที่มาถึงสถานที่ใหม่ๆ เป็นเรื่องปกติที่เราจะรู้สึกตื่นเต้นและเริ่มที่จะซึมซับแต่สิ่งที่ดีและสวยงามของประเทศนั้นๆ ในช่วงนี้เราจะเห็นทุกอย่างเป็นสิ่งดีไปเสียหมดและระดับการเปิดรับวัฒนธรรมใหม่นั้นสูงมาก The Negotiation Stage เมื่อถึงเวลาการมองโลกแบบขั้นที่หนึ่งนั้นจะหายไปเองเมื่อเราเริ่มมองโลกตามความเป็นจริงมากขึ้น นักเรียนอาจเริ่มรู้สึกเคว้นคว้าง หรือรู้สึกหงุดหงิดกับวัฒนธรรมที่แตกต่างและรู้สึกว่าชีวิตตัวเองไม่มีระเบียบมากนักภายใต้สังคมใหม่  The Adjustment Stage เป็นช่วงที่เราเริ่มรู้สึกผ่อนคลายลงจากการปรับตัว ความรู้สึกแปลกถิ่นเริ่มจางหายไปและสถานที่ใหม่เริ่มกลายเป็นบ้านมากขึ้น นักเรียนจะรู้สึกว่าอารมณ์คงที่มากขึ้น  The Mastery Stage เป็นขั้นสุดท้ายของอาการ Culture Shock ซึ่งคือเมื่อเราสามารถรู้สึกสบายดีได้ในที่สุด ซึ่งเป็นขั้นที่เรารู้สึกว่าทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผล เราสามารถพูดคุยกับคนแปลกหน้าในสังคมใหม่ได้อย่างไม่เคอะเขินหรือกลัว และรู้สึกคุ้นชินกับกิจวัตรประจำวันแบบใหม่ได้ในที่สุด แน่นอนว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่จะคิดถึงเพื่อนๆและครอบครัว แต่ในที่สุดแล้วเพื่อนและกิจกรรมใหม่ๆก็จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเรา อาการ Culture Shock ส่งผลกระทบต่างออกไปในแต่ละคนโดยขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีต บางคนอาจพบว่าอาการนี้ไม่ส่งผลอะไรเลยในขณะที่บางคนอาจพบว่าอาการนี้ยากเกินกว่าจะรับมือได้ อย่างไรก็ตาม Culture Shock เป็นอาการที่รับมือได้ง่าย ดังนั้นผู้ที่สนใจจะไปเรียนต่อต่างประเทศจึงไม่ควรปล่อยให้ความกลัวเป็นตัวขัดขวางโอกาสในการศึกษาต่อในต่างประเทศ

2022-03-18 10:13:55

...
การดื่มชาเขียว ช่วยให้ลดน้ำหนักจริงหรือ?

การดื่มชาเขียว ช่วยให้ลดน้ำหนักจริงหรือ? การดื่มชาเขียวช่วยให้ลดน้ำหนักได้จริงๆเพราะสามารถช่วยกระตุ้นการเผาผลาญไขมันในร่างกาย แต่อย่างไรก็ตามควรควบคุมปริมาณการทานอาหารให้เหมาะสม แต่ควรดื่มให้เหมาะกับปริมาณที่พอดีและควรดื่ม ในเวลาที่ ดื่มชาเขียวระหว่างกินข้าว หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากลดน้ำหนัก การดื่มชาเขียวในระหว่างกินข้าวเป็นไอเดียที่ดีอย่างหนึ่ง หรือการทานชาเขียวหลังกินข้าวก็ให้ผลดีเช่นกัน  ชาเขียวเย็น ในช่วงที่มีอากาศร้อน การจิบชาเขียวเย็น ๆ จะช่วยทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นเยอะ ทำได้โดยการหาชาเขียวแบบซองสำเร็จรูป แล้วชงเก็บใส่ตู้เย็นเอาไว้ แล้วนำออกมาดื่มเวลารู้สึกกระหายน้ำ ที่สำคัญควรงดการเติมน้ำตาลลงไปโดยเด็ดขาดหากไม่อยากอ้วน อย่าดื่มชาเขียวที่วางขายตามร้านสะดวกซื้อ การซื้อชาเขียวตามร้านสะดวกซื้อเพื่อใช้ในการลดน้ำหนักนั้นเป็นวิธีที่ไม่ได้ผล เพราะเต็มไปด้วยน้ำตาลแถมยังมีส่วนผสมของน้ำตาลอยู่ในปริมาณมาก นอกจากจะทำให้ไม่ผอมแล้ว ยังทำให้อ้วนง่ายมากกว่าเดิม ดังนั้นให้ลองหาซื้อชาเขียวซองมาชงดื่มเองจะดีกว่า แต่การดื่มชาเขียวแล้วลดน้ำหนักได้จริงๆคือ ควรเลือกชาเขียวที่ชงจากถุงเท่านั้น อย่าเลือกดื่มชาเขียวใส่ขวดสำเร็จ เนื่องจากมันเต็มไปด้วยน้ำตาล นอกจากจะไม่ทำให้ผอมแล้ว ยังอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย

2022-03-17 11:09:05

...
โรคแพนิค(PANIC DISORDER)

โรคแพนิค PANIC DISORDER โรคแพนิค หรือโรควิตกกังวล มักพบได้มากในยุคสมัยนี้ อย่างที่เราสังเกตได้ โรคตื่นตระหนก ผู้ที่เป็นมักมีความรู้สึกกลัว ตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก แบบไม่คาดคิดมาก่อน และเกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน และมีความกังวลว่าจะเป็นขึ้นมาอีก  โรคแพนิค จะมีอาการดังนี้ ใจสั่น ใจเต้นแรง หรือใจเต้นเร็วมาก  เหงื่อแตก  ตัวสั่น มือเท้าสั่น หายใจไม่อิ่ม หรือ หายใจขัด  รู้สึกอึดอัด หรือแน่นอยู่ข้างใน  เจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก  คลื่นไส้ ท้องไส้ปั่นป่วน  วิงเวียน โคลงเคลง มึนตื้อ หรือเป็นลม  ครั่นเนื้อครั่นตัว หนาวสั่น ร้อนวูบวาบ เหมือนจะเป็นไข้ รู้สึกชา หรือรู้สึกซ่า ๆ (paresthesia) รู้สึกเหมือนสิ่งรอบตัวเปลี่ยนแปลงไป (derealization หรือ depersonalization) กลัวคุมตัวเองไม่ได้ หรือกลัวเป็นบ้า กลัวว่าตนเองกำลังจะตาย หากไม่ได้รับการรักษาหรือบำบัดโรคแพนิค และปล่อยไว้นานๆอาจจะทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ภายหลังได้ และคนรอบข้างต้องทำความเข้าใจและเข้าใจคนที่ป่วยเป็นโรคนี้ด้วย จะเป็นการช่วยให้เขามีอาการที่ดีขึ้นด้วย   ทั้งนี้น้องเมดิคเป็นกำลังใจและอยู่ข้างๆคนที่กำลังป่วยนะครับ :)

2022-03-17 10:43:27