การนอนกรน

นอนกรนเกิดจากอะไร

อาการนอนกรนเกิดจาก การที่ช่องทางเดินหายใจส่วนต้นของเรา เกิดการตีบแคบลง ทำให้ลมหายใจที่ผ่านเข้ามาผ่านช่องที่แคบนี้ เกิดการกระพือ และกลายเป็นเสียงกรนขึ้น ดยปกติตามธรรมชาติ คนเราเมื่อนอนหลับ กล้ามเนื้อต่างๆ จะมีการหย่อนตัวหรือคลายตัวลง ซึ่งอวัยวะในช่องทางเดินหายใจของเรา เช่น เพดานอ่อน หรือโคนลิ้น ก็จะหย่อนลงมาทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลงได้ โดยเฉพาะเวลาที่เรานอนหงาย

ทีนี้ พอช่องทางเดินหายใจมันแคบลง เวลาเราหายใจเอาอากาศเข้ามา ลมที่ผ่านช่องที่แคบนี้ ก็จะทำให้กล้ามเนื้อดังกล่าวเกิดการกระพือ (คล้ายๆ กับเวลาที่ลมเป่าลมผ่านหลอดเล็กๆ นั่นแหละครับ) เมื่อกล้ามเนื้อเกิดการกระพือ หรือสั่นสะเทือน ก็จะเกิดเป็นเสียงกรนขึ้น และนี่ก็คือสาเหตุของการนอนกรนนั่นเอง 

สียงกรนที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของอวัยวะที่เกิดการสั่น เช่น ถ้าเกิดการสั่นที่เพดานอ่อน หรือลิ้นไก่ ก็จะทำให้เกิดเสียงกรนในลำคอ หรือถ้าเกิดการสั่นที่เนื้อเยื่ออ่อนด้านหลังโพรงจมูก ก็จะทำให้เกิดเสียงกรนแบบขึ้นจมูก เป็นต้น

สาเหตุการนอนกรน ที่พบได้บ่อยๆ มีดังนี้

น้ำหนักตัวเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เบื้องต้นดูได้จากค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ครับ

ไขมันในช่องคอหนา

ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ ก็ทำให้กล้ามเนื้อหย่อนได้

นอนกรนมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

สูบบุหรี่เป็นประจำ

ความเหนื่อย กับการนอนกรน ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างมาก

นอนหงายเป็นประจำ

ช่องจมูกคด

ช่องจมูกตีบตัน อาจเนื่องจากภูมิแพ้

การรับประทานยาบางชนิด ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองในทางเดินหายใจ

สรีระผิดปกติ เช่น คางเล็ก ลิ้นไก่ใหญ่กว่าปกติ โคนลิ้นอ้วน เป็นต้น

วิธีรักษานอนกรนด้วยหลักการแพทย์

หากท่านพบแพทย์ และทำการตรวจการนอนหลับแล้ว แพทย์มักแนะนำทางเลือกในการรักษานอนกรน ดังนี้

  1. ใช้เครื่องอัดอากาศ CPAP
  2. ใช้ที่ครอบฟัน (Oral appliance)
  3. ผ่าตัด (Surgical Treatment)

วิธีแก้อาการนอนกรนด้วยตัวเองแบบง่ายๆ

นอกจากการรักษาโดยการพบแพทย์แล้ว ในเบื้องต้น ท่านอาจเริ่มทำตามวิธีต่างๆ ที่ผมกำลังจะบอกให้เหล่านี้ เพื่อแก้อาการนอนกรนด้วยตัวท่านเองก็ได้ครับ

ซึ่งวิธีเหล่านี้ เป็นเพียงการแก้ไขเบื้องต้นเท่านั้น และใช้บรรเทาอาการกรนแบบธรรมดา ที่ไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย หากท่านมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ท่านต้องไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาตามหลักการแพทย์เท่านั้นนะครับ

วิธีแก้นอนกรนด้วยตัวเอง

  1. เปลี่ยนท่านอน โดยมากท่านอนหงาย จะเป็นท่าที่ทำให้เกิดการกรนมากที่สุด ท่านอาจลองปรับมานอนตะแคงดูก็ได้ หรือถ้านอนตะแคงไม่ได้จริงๆ ก็ให้นอนหงายแต่พยายามหาอะไรมารองหนุนศีรษะ เพื่อยกระดับศีรษะตอนนอนให้สูงขึ้น ก็พอช่วยได้ครับ
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ข้อนี้ทุกท่านควรทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะนอนกรนหรือไม่ก็ตาม การออกกำลังกายจะทำให้กล้ามเนื้อในช่องทางเดินหายใจมีความแข็งแรงขึ้น ทำให้ขณะที่นอนหลับกล้ามเนื้อต่างๆ ในช่องคอ จะได้ไม่หย่อนลงมาขวางช่องทางเดินหายใจของเราได้
  3. ลดน้ำหนัก อันนี้มีผลโดยตรง หากน้ำหนักเราลดลง ไขมันต่างๆ ในช่องคอก็จะลดลง ทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น
  4. งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนเข้านอน
  5. งด ชา กาแฟ ก่อนนอน
  6. เลิกบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่นอกจากจะทำร้ายร่างกายของเราแล้ว อาจมีผลทำให้ระบบทางเดินหายใจของเราผิดปกติ และเกิดการกรนได้
  7. ทำความสะอาดเครื่องนอนอย่างสม่ำเสมอ เช่น หมอน ผ้าปูเตียง ผ้าห่ม เพราะสิ่งสกปรก หรือเชื้อโรคที่ติดอยู่ตามเครื่องนอนของเรานั้น อาจทำให้เกิดหอบหืด ภูมิแพ้ได้ ซึ่งทำให้ช่องทางเดินหายใจของเราตีบแคบ และเกิดเสียงกรนได้ครับ
  8. ลองเพิ่มความชื้นภายในห้องนอนของท่าน เช่น  หาแก้วหรือชามใส่น้ำมาวางไว้ข้างๆ เตียงนอน หรือซื้อเครื่องทำความชื้นมาไว้ในห้อง
  9. ล้างจมูกบ่อยๆ แนะนำให้ล้างด้วยน้ำเกลือ โดยใช้กระบอกฉีดยา ฉีดเข้าทางรูจมูกเป็นประจำก่อนนอน เพื่อทำให้จมูกโล่ง

ข่าวสารแนะนำ
...
การปวดท้องประจำเดือนของผู้หญิง

การปวดท้องประจำเดือนของผู้หญิง อาการปวดท้องประจำเดือนมักจะเกิดกับผู้หญิง มีอาการก่อนประจำเดือนมา1-2 วัน หรือปวดวันที่ประจำเดือนมาวันแรก และระหว่างมีประจำเดือนในช่วงวันแรกๆ อาการปวดประจำเดือนมีตั้งแต่อาการปวดหน่วงหรือปวดเกร็งเล็กน้อย ไปจนถึงอาการปวดขั้นรุนแรงบริเวณท้องน้อย และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดหลังด้านล่าง คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก ท้องเสียหรือท้องผูก ท้องอืด เวียนศีรษะและปวดศีรษะ เป็นต้น อาการปวดประจำเดือนแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน ปวดประจำเดือนประเภทปฐมภูมิ (Primary Dysmenorrhea) เป็นอาการปวดประจำเดือนที่พบบ่อยที่สุด สาเหตุมักเกิดจากการที่เยื่อบุโพรงมดลูกผลิตสารโพรสตาแกลนดินมากเกินไป ปวดประจำเดือนประเภททุติยภูมิ (Secondary Dysmenorrhea) เกิดจากภาวะผิดปกติของมดลูกหรืออวัยวะสืบพันธุ์อื่นๆ  หากมีอาการปวดประจำเดือน ผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาตัวเองได้โดย ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบท้องน้อยและหลัง อาบน้ำอุ่น ใช้เทคนิคการผ่อนคลาย เช่น โยคะหรือนั่งสมาธิ รับประทานยาต้านการอักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs) ควรรับประทานเมื่อเริ่มมีอาการปวดหรือก่อนมีอาการปวด การรับประทานยาแก้ปวดอาจมีผลข้างเคียง ดังนั้นควรใช้เมื่อมีอาการปวดอย่างรุนแรงเท่านั้น พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานผักและผลไม้ จากการศึกษาพบว่าทานอาหารที่มี Vitamin E, Omega-3 Fatty Acids, Vitamin B1, Vitamin B6 และ Magnesium ช่วยลดการปวดประจำเดือนได้

2022-03-24 11:18:05

...
อาการ CULTURE SHOCK

อาการ CULTURE SHOCK เป็นอาการที่เกิดจาก การที่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศหรือต่างถิ่นจึงมีอาการculture shock ความอึดอับกับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมนั้นเรียกว่าอาการ  Culture Shock ซึ่งอาจส่งผลโดยตรงต่อสภาพจิตใจของนักเรียน วันนี้เราจะมาแนะนำถึงอาการ Culture Shock กันค่ะ Culture Shock นั้นเป็นเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกับทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว ยิ่งเมื่อเริ่มการใช้ชีวิตในต่างประเทศแล้ว ทั้งวัฒนธรรม สิ่งที่เราเคยทำเป็นประจำในทุกๆวัน ทัศนคติของคนรอบๆตัว ต่างก็กลายเป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคยไปเสียดื้อๆ และในระหว่างที่นักเรียนกำลังอยู่ในขั้นตอนของการรับรู้ความเปลี่ยนแปลงและจัดการทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนั้นคืออาการ Culture Shock นั่นเองค่ะ  Culture Shock มีลำดับขั้นตอนดังนี้ The Honeymoon Stage ทันทีที่มาถึงสถานที่ใหม่ๆ เป็นเรื่องปกติที่เราจะรู้สึกตื่นเต้นและเริ่มที่จะซึมซับแต่สิ่งที่ดีและสวยงามของประเทศนั้นๆ ในช่วงนี้เราจะเห็นทุกอย่างเป็นสิ่งดีไปเสียหมดและระดับการเปิดรับวัฒนธรรมใหม่นั้นสูงมาก The Negotiation Stage เมื่อถึงเวลาการมองโลกแบบขั้นที่หนึ่งนั้นจะหายไปเองเมื่อเราเริ่มมองโลกตามความเป็นจริงมากขึ้น นักเรียนอาจเริ่มรู้สึกเคว้นคว้าง หรือรู้สึกหงุดหงิดกับวัฒนธรรมที่แตกต่างและรู้สึกว่าชีวิตตัวเองไม่มีระเบียบมากนักภายใต้สังคมใหม่  The Adjustment Stage เป็นช่วงที่เราเริ่มรู้สึกผ่อนคลายลงจากการปรับตัว ความรู้สึกแปลกถิ่นเริ่มจางหายไปและสถานที่ใหม่เริ่มกลายเป็นบ้านมากขึ้น นักเรียนจะรู้สึกว่าอารมณ์คงที่มากขึ้น  The Mastery Stage เป็นขั้นสุดท้ายของอาการ Culture Shock ซึ่งคือเมื่อเราสามารถรู้สึกสบายดีได้ในที่สุด ซึ่งเป็นขั้นที่เรารู้สึกว่าทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผล เราสามารถพูดคุยกับคนแปลกหน้าในสังคมใหม่ได้อย่างไม่เคอะเขินหรือกลัว และรู้สึกคุ้นชินกับกิจวัตรประจำวันแบบใหม่ได้ในที่สุด แน่นอนว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่จะคิดถึงเพื่อนๆและครอบครัว แต่ในที่สุดแล้วเพื่อนและกิจกรรมใหม่ๆก็จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเรา อาการ Culture Shock ส่งผลกระทบต่างออกไปในแต่ละคนโดยขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีต บางคนอาจพบว่าอาการนี้ไม่ส่งผลอะไรเลยในขณะที่บางคนอาจพบว่าอาการนี้ยากเกินกว่าจะรับมือได้ อย่างไรก็ตาม Culture Shock เป็นอาการที่รับมือได้ง่าย ดังนั้นผู้ที่สนใจจะไปเรียนต่อต่างประเทศจึงไม่ควรปล่อยให้ความกลัวเป็นตัวขัดขวางโอกาสในการศึกษาต่อในต่างประเทศ

2022-03-18 10:13:55

...
การดื่มชาเขียว ช่วยให้ลดน้ำหนักจริงหรือ?

การดื่มชาเขียว ช่วยให้ลดน้ำหนักจริงหรือ? การดื่มชาเขียวช่วยให้ลดน้ำหนักได้จริงๆเพราะสามารถช่วยกระตุ้นการเผาผลาญไขมันในร่างกาย แต่อย่างไรก็ตามควรควบคุมปริมาณการทานอาหารให้เหมาะสม แต่ควรดื่มให้เหมาะกับปริมาณที่พอดีและควรดื่ม ในเวลาที่ ดื่มชาเขียวระหว่างกินข้าว หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากลดน้ำหนัก การดื่มชาเขียวในระหว่างกินข้าวเป็นไอเดียที่ดีอย่างหนึ่ง หรือการทานชาเขียวหลังกินข้าวก็ให้ผลดีเช่นกัน  ชาเขียวเย็น ในช่วงที่มีอากาศร้อน การจิบชาเขียวเย็น ๆ จะช่วยทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นเยอะ ทำได้โดยการหาชาเขียวแบบซองสำเร็จรูป แล้วชงเก็บใส่ตู้เย็นเอาไว้ แล้วนำออกมาดื่มเวลารู้สึกกระหายน้ำ ที่สำคัญควรงดการเติมน้ำตาลลงไปโดยเด็ดขาดหากไม่อยากอ้วน อย่าดื่มชาเขียวที่วางขายตามร้านสะดวกซื้อ การซื้อชาเขียวตามร้านสะดวกซื้อเพื่อใช้ในการลดน้ำหนักนั้นเป็นวิธีที่ไม่ได้ผล เพราะเต็มไปด้วยน้ำตาลแถมยังมีส่วนผสมของน้ำตาลอยู่ในปริมาณมาก นอกจากจะทำให้ไม่ผอมแล้ว ยังทำให้อ้วนง่ายมากกว่าเดิม ดังนั้นให้ลองหาซื้อชาเขียวซองมาชงดื่มเองจะดีกว่า แต่การดื่มชาเขียวแล้วลดน้ำหนักได้จริงๆคือ ควรเลือกชาเขียวที่ชงจากถุงเท่านั้น อย่าเลือกดื่มชาเขียวใส่ขวดสำเร็จ เนื่องจากมันเต็มไปด้วยน้ำตาล นอกจากจะไม่ทำให้ผอมแล้ว ยังอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย

2022-03-17 11:09:05

...
โรคแพนิค(PANIC DISORDER)

โรคแพนิค PANIC DISORDER โรคแพนิค หรือโรควิตกกังวล มักพบได้มากในยุคสมัยนี้ อย่างที่เราสังเกตได้ โรคตื่นตระหนก ผู้ที่เป็นมักมีความรู้สึกกลัว ตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก แบบไม่คาดคิดมาก่อน และเกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน และมีความกังวลว่าจะเป็นขึ้นมาอีก  โรคแพนิค จะมีอาการดังนี้ ใจสั่น ใจเต้นแรง หรือใจเต้นเร็วมาก  เหงื่อแตก  ตัวสั่น มือเท้าสั่น หายใจไม่อิ่ม หรือ หายใจขัด  รู้สึกอึดอัด หรือแน่นอยู่ข้างใน  เจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก  คลื่นไส้ ท้องไส้ปั่นป่วน  วิงเวียน โคลงเคลง มึนตื้อ หรือเป็นลม  ครั่นเนื้อครั่นตัว หนาวสั่น ร้อนวูบวาบ เหมือนจะเป็นไข้ รู้สึกชา หรือรู้สึกซ่า ๆ (paresthesia) รู้สึกเหมือนสิ่งรอบตัวเปลี่ยนแปลงไป (derealization หรือ depersonalization) กลัวคุมตัวเองไม่ได้ หรือกลัวเป็นบ้า กลัวว่าตนเองกำลังจะตาย หากไม่ได้รับการรักษาหรือบำบัดโรคแพนิค และปล่อยไว้นานๆอาจจะทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ภายหลังได้ และคนรอบข้างต้องทำความเข้าใจและเข้าใจคนที่ป่วยเป็นโรคนี้ด้วย จะเป็นการช่วยให้เขามีอาการที่ดีขึ้นด้วย   ทั้งนี้น้องเมดิคเป็นกำลังใจและอยู่ข้างๆคนที่กำลังป่วยนะครับ :)

2022-03-17 10:43:27